โซเชียลมีเดียไม่มีความเหมาะสมสำหรับเด็ก

ทำไมเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จึงไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมออนไลน์

ในสังคมที่แทบทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ เยาวชน และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการเข้าถึงโซเชียลมีเดียที่ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายๆ คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็น่าจะมีบัญชีโซเชียลมีเดียไม่ต่ำกว่า 1 บัญชีอย่างแน่นอน

แต่ในขณะเดียวกัน คนบางกลุ่มก็อาจยังไม่เหมาะที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมบนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งคนกลุ่มนั้นที่เราพูดถึงก็คือ “เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี” ซึ่งเหตุผลนั้นก็เพราะผลการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้วิเคราะห์ออกมาแล้วว่า โซเชียลมีเดียไม่มีความเหมาะสมสำหรับเด็กในวัยนั้นเลย

และทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลจากหลากหลายการศึกษาที่อธิบายว่าทำไมเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จึงไม่เหมาะที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมบนโลกอินเตอร์เน็ต

1. เด็กจะเห็นความแตกต่างจำนวนมากบนโลกโซเชียล
ในช่วงที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะทำตามเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน เมื่อพวกเขาเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียแล้ว พวกเขายังไม่พร้อมที่จะเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน พวกเขาจะพยายามไขว่คว้าตามเด็กคนอื่นๆ ที่เห็นในโลกโซเชียล

ซึ่งสิ่งที่อาจตามมาก็คือ การรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ตามคนอื่นไม่ทัน เพราะเด็กในช่วงวัยนี้อยู่ในช่วงการพัฒนาในส่วนของความภาคภูมิใจในตัวเอง หากมีอะไรมากระทบก็อาจจะไม่สามารถพัฒนาในส่วนนี้ และจะส่งผลในระยะยาวได้

2. เด็กจะชอบโชว์สิ่งต่างๆ ให้คนอื่นดูมากจนเกินไป
จากการศึกษาพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หากว่าพวกเขาได้เล่นโซเชียลมีเดียแล้ว พวกเขาก็มักจะแชร์ทุกอย่างมากจนเกินไป บางทีก็ชอบถ่ายข้าวของในบ้านไปโพสต์ หรือบางทีก็ถ่ายสิ่งที่เป็นของส่วนตัวไปโชว์ให้คนอื่นดู และที่หนักกว่านั้นคืออาจมีคนประสงค์ร้ายหรือสตอล์คเกอร์แอบตามเด็กๆ จากข้อมูลที่พวกเขาแชร์ลงไปก็ได้

โซเชียลมีเดียไม่มีความเหมาะสมสำหรับเด็ก

3. พวกเขาอาจเป็นเหยื่อของ Cyberbulling หรืออาจเป็นคนก่อเหตุซะเอง
ซึ่งในปัจจุบันการกลั่นแกล้งกันบนโลกโซเชียลบางครั้งก็กลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการกลั่นแกล้งกันในชีวิตจริงเสียอีก และมันอาจจะส่งผลอย่างมากกับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีที่กำลังเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในตัวเอง

การถูกกลั่นแกล้งบนโลกโซเชียลอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล วิตกจริตกับสิ่งรอบตัว และจากงานวิจัยพบว่าการกลั่นแกล้งกันบนโลกโซเชียลนั้นอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้

4. ความวิตกกังวลที่มากเกินเยียวยา
ต่อจากข้อที่แล้ว ความวิตกกังวลและความกดดันของเด็กที่อาจเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาเล่นโซเชียลมีเดีย สิ่งนั้นอาจทำลายความมั่นใจในตัวเอง ทำให้พวกเขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเองได้

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เด็กในช่วงวัยนี้ควรได้รับการพัฒนาทักษะที่เขาสนใจหรือถนัดมากกว่าที่จะเอาเวลาไปอยู่กับเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ไม่อย่างนั้นชีวิตของพวกเขาในอนาคตอาจต้องเจอกับความยากลำบากในหลายๆ อย่าง

5. เด็กอาจทำตามเทรนด์ที่เป็นอันตราย
อย่างที่เราเห็นกันว่าเดี๋ยวนี้มีเทรนด์อะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย แบบที่สร้างสรรค์ก็มี แต่แบบที่ดูไม่ค่อยจะดีก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่าง เทรนด์เตะขาเพื่อนตอนกระโดด เราจะเห็นได้เลยว่ามันอันตรายมากถึงขั้นที่เคยมีคนเสียชีวิตมาแล้ว

6. เด็กคือเป้าหมายของนักต้มตุ๋น
ไม่ต้องบอกก็น่าจะพอเดากันได้ว่าเด็กในวัยนี้เหมาะมากที่จะเป็นเหยื่อให้กับแก๊งมิจฉาชีพ การจะหลอกเด็กให้ทำเรื่องไม่ดี หรือหลอกเอาตัวตนของพวกเขาไปใช้ในทางมิชอบนั้น สามารถทำได้ง่าย

ในบางทีถึงแม้ผู้ใหญ่จะบอกว่าคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดในขณะที่พวกเขาเล่นโซเชียล แต่นั่นก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กรอดพ้นจากความเสี่ยงหลายๆ อย่างเหล่านี้ไปได้เลย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ miriamkramer.com

 

Releated